เพชรบูรณ์ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ จากการเผาอ้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หิมะดำ”

ช่วงนี้พื้นที่ของเมืองหลวง เช่น กรุงเทพฯ หรือปริมณฑล

กำลังเผชิญกับฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในช่วงนี้ แต่ในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ของเราก็ไม่แพ้กับคนกรุงเทพที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากการเผาอ้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หิมะดำ” ซึ่งการเผาอ้อยนั้นจะเกิดความร้อนสูงมาก เกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว และเกิดฝุ่นละอองลอยตัวกระจายในอากาศสูงกว่า 2,250 เมตร และลอยไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว โดยผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยที่มีต่อมลภาวะทางอากาศ ทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพโดยมีสารอันตรายจากการเผาใบอ้อย ดังนี้

1.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเกิดการเผาไหม้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราสูดเข้าไปในร่างกาย จะทำให้หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ยิ่งถ้าได้รับปริมาณมาก จะมีผลกดสมอง มึนงง สับสน อาจหมดสติ และเสียชีวิตได้

2.สารฟอร์มาดีไฮด์ ทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ในระยะยาวทำให้เกิดโรคต่อถุงลมปอด ส่วนพิษในระยะเฉียบพลันคือแสบตา ระคายเคืองทางเดินหายใจ แน่นหน้าอก หายใจหอบ หากสูดดมไอระเหยเข้มข้นสูงมากตั้งแต่ 100 พีพีเอ็ม อาจทำให้เสียชีวิตได้

3.สารคาร์บอนมอนอกไซด์ มีผลทำให้ออกซิเจนไม่สามารถรวมตัวกับเฮโมโกบินในเลือดได้ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้

4.สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้ชีพจรเต้นถี่ แน่นหน้าอก หากได้รับในปริมาณเข้มข้นสูง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด และผู้สูงอายุ

5.สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนหรือสารพีเอเอช เป็นสารก่อมะเร็งที่หากได้รับพิษนี้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะอาหารได้

6.ฝุ่นละออง การเผาไหม้ทุกอย่างทำเกิดฝุ่นละอองร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ ดวงตา ผิวหนัง เกิดอาการไอ เจ็บคอ หอบหืด แสบจมูก แสบหู แสบตา ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไอเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โรคไซนัสอักเสบ

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และมาตรา 25 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติการสารธารณสุข พ.ศ.2535

การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมา ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ทางเลือกที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเลือกใช้ในการลดมลพิษจากการเผาใบอ้อยได้ นั่นคือ “การตัดอ้อยสดทิ้งใบคลุมดิน (Trash Blanket)” ที่นอกจากจะช่วยรักษาความชื้นในดิน ควบคุมวัชพืช และเป็นอินทรียวัตถุให้ดินแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสุขภาพจากการสูดดมควันไฟ และแก้ไขปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ข้อมูล/รูปภาพ : องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพชรบูรณ์