ซูเปอร์ตะบันน้ำ โครงการคนต้นน้ำนำร่องในพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

“คนต้นน้ำ” หรือผู้อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ หากมองจากความเข้าใจของคนทั่วไป

คนเหล่านั้นน่าจะเป็นผู้ที่มีน้ำอุปโภค บริโภค อย่างไม่จำกัด แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม เนื่องจากธรรมชาติของน้ำคือ การไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น คนต้นน้ำจึงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อย่างรุนแรง สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ ริเริ่มการทำเครื่องมือที่รียกว่า “ซูเปอร์ตะบันน้ำ” แก้ปัญหาการเข้าถึงน้ำในที่สูง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณต้นน้ำ โดยขณะนี้เป็นการนำร่องในพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้นำโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ เสนอในโครงการ “พลิกไทย” ที่จัดโดยดีแทค เพื่อเชิญชวนให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคล มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือก 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นที่ทำให้โครงการสามารถเป็นจริงได้
ล่าสุด ซูเปอร์ตะบันน้ำ เป็น 1 ใน 10 โครงการ ที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค

นายจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้พื้นที่ต้นน้ำจะเป็นแหล่งกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนปลายน้ำ แต่ในทางกลับกัน ชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนบนพื้นที่สูงในการจัดหาและขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง เพื่อการอุปโภคและบริโภคในระดับครัวเรือน รวมถึงการทำการเกษตรเชิงนิเวศ ที่ผ่านมา การนำน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มักมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากการใช้ปั๊มน้ำที่อาศัยน้ำมันดีเซลและไฟฟ้า ซึ่งพลังงานดังกล่าวเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

และแหล่งน้ำบางแห่งอยู่นอกระบบสายส่ง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ “ด้วยอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมมีแรงบันดาลใจในการสนับสนุนการเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ โดยเห็นว่า เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมีส่วนสำคัญต่อการทำลายระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของวิกฤตด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจัยในเรื่องการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนที่ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอาหารและการเกษตรมาสู่เกษตรเชิงนิเวศ” นายจีระศักดิ์ กล่าว

จากการวิเคราะห์ของผู้พัฒนาร่วมกับชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่า ชุมชนมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนต่ำ เพราะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในปริมาณมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้ ซึ่งนั่นคือ เครื่องตะบันน้ำ สำหรับตะบันน้ำ นวัตกรรมพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้ร่วมกับชุมชนในหลายพื้นที่ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดำเนินการพัฒนาตะบันน้ำในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ตอบโจทย์พื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมเบื้องต้นของตนเอง

ซึ่งได้ทดสอบเชิงประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับตะบันน้ำรูปแบบต่างๆ พบว่า ซูเปอร์ตะบันน้ำ ที่สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ร่วมกับชุมชนประดิษฐ์ขึ้น มีประสิทธิภาพสูงและสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือ ซูเปอร์ตะบันน้ำที่พัฒนาสามารถเพิ่มแรงดันได้และมีความทนทาน วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ง่าย เช่น ถังแก๊สเก่า เหล็กฉาก เครื่องเชื่อมเหล็ก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียง เครื่องละ 5,000 บาท ซึ่งเดิมทีเครื่องปั๊มน้ำแบบใช้น้ำมันดีเซล ค่าใช้จ่ายประมาณเครื่องละ 10,000 บาท แถมยังเสียค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย

ทั้งนี้ พบว่า การใช้เครื่องตะบันน้ำ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.532 กิโลคาร์บอนต่อวัน หากใช้เครื่องตะบันน้ำในพื้นที่ 20 เครื่อง เป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 319 กิโลคาร์บอน เท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 32 ต้น

 

ด้าน นายวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกผักสวนครัวและข้าวโพด ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักในการทำเกษตรในพื้นที่คือ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ โดยต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมา ใช้เครื่องปั๊มน้ำดีเซล สูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ราคาขายพืชยังไม่สูงมาก ซึ่งไม่คุ้มทุน จึงสนใจนำเครื่องตะบันน้ำของสมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ มาทดลองใช้ 1 เครื่อง ในช่วง 3 เดือน

ได้มีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย พบว่าการใช้เครื่องตะบันน้ำช่วยให้ประหยัดเงินได้เดือนละ 12,000-15,000 บาท ซึ่งมาจากค่าน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าการใช้ตะบันน้ำ ทำให้ไม่มีช่วงที่ขาดแคลนน้ำเลย เพราะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แหล่งข้อมูล/technologychaoban